
ผู้รับการตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร
1.ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ส่งตรวจหรือรังสีแพทย์ทราบถึงอาการหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดกับเต้านม ประวัติการผ่าตัด ประวัติการใช้ฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด
2.ไม่ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงใกล้กับการมีประจำเดือน เพราะเต้านมอาจตึงเจ็บกว่าปกติ ช่วงที่ดีที่สุดคือ 1 สัปดาห์หลังหมดประจำเดือนในวันตรวจ
3.ไม่ควรใช้เครื่องสำอางค์ แป้ง หรือโลชั่น ทาบริเวณเต้านมหรือ ใต้วงแขน เพราะอาจทำให้เหมือนมีจุดผิดปกติในภาพได้
4.ถ้ามีฟิล์มเก่าหรือข้อมูลอิเลคโทรนิคในการตรวจครั้งก่อนซึ่งมักมาในรูป CD ให้นำไปให้รังสีแพทย์ผู้ทำการแปลผลใช้เพื่อการเปรียบเทียบด้วย
5.ไม่ควรเร่งขอผลตรวจ เพื่อรังสีแพทย์จะได้มีเวลาในการแปลผลและเปรียบเทียบ
6.ควรติดตามผลด้วยตนเองเพื่อให้ทราบว่าปกติหรือผิดปกติ การไม่ได้รับผลไม่ได้หมายความว่าผลปกติ
เครื่องตรวจหน้าตาเป็นอย่างไร
เครื่องแมมโมแกรมมีส่วนที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมซึ่งใส่หลอดเอ็กซเรย์ และมีส่วนประกอบที่ช่วยให้รังสีผ่านเฉพาะเต้านมที่ทำการตรวจ เป็นเครื่องที่สร้างมาเพื่อใช้ตรวจเฉพาะเต้านมเท่านั้น โดยจะมีแผ่นรองรับเต้านมและกดเนื้อเต้านมในมุมต่างๆเพื่อการถ่ายภาพ การตรวจ Breast tomosynthesis ต้องใช้เครื่อง Digital mammography เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกเครื่อง Digital mammography จะสามารถตรวจด้วยวิธี tomosynthesis ได้